SOCIAL CHALLENGE

คือเจตจำนงที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งปัญหาสังคมเหล่านี้คือภาวะหรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก มักเป็นผลมาจากปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของแต่ละบุคคล และคนส่วนใหญ่ในสังคมตกลงใจที่จะจัดการแก้ไขสถานการณ์นั้นให้กลับสู่สภาวะปกติหรือให้มีสภาพดีขึ้น ตัวอย่างปัญหาสังคมที่เป็น Social Challenges เช่น

CLIMATE CHANGE : ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
HEALTH CARE AVAILABILITY : ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
OVERPOPULATION : ปัญหาจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น
INEQUALITY : ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (เป็น Social Challenge ที่ทำให้ Challenge อื่นๆ รุนแรงขึ้น)

ความท้าทายในสังคมมีหลายมิติและหลายระดับ ตั้งแต่ระดับโลก ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับเมือง และระดับชุมชน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระดับใดหรือมิติไหนก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในสังคมนั้นๆ จึงจะสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

CLIMATE CHANGE
ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือภาวะโลกร้อน เกิดจากอุณหภูมิของอากาศบนโลกสูงขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ทำให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากจนเกิดภาวะโลกร้อนซึ่งสร้างผลกระทบและความเสียหายไปทั่วทุกมุมโลกอยู่ในขณะนี้

เราควรอาศัย “องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เข้ามาช่วยชะลอภาวะโลกร้อน โดยมีอีกปัจจัยที่สำคัญมากคือ “การมีส่วนร่วมของคนทุกคน” แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนอื่น และไม่ใช่เรื่องด่วน แต่ผลจากภาวะโลกร้อนได้เข้ามากระทบความเป็นอยู่ของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของอากาศ ภาวะน้ำท่วมสลับกับภัยแล้งแบบปีต่อปี และล่าสุดที่ทุกคนต้องเจอคือ ฝุ่น PM2.5 และปัญหาคุณภาพอากาศที่เราหายใจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้นับวันจะรุนแรงและเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นปัญหาของทุกคน ทุกคนต้องร่วมมือกัน โดยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น การลดปริมาณขยะ การประหยัดพลังงานไฟฟ้า การใช้พลังงานสะอาดทดแทนอย่าง Solar Cell หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การลดการใช้รถยนต์และใช้บริการขนส่งสาธารณะ ก็ถือเป็นการช่วยแก้ไข หรือบรรเทาปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือภาวะโลกร้อนแล้ว

HEALTH CARE AVAILABILITY
ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

นับตั้งแต่ที่มีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี พ.ศ. 2545 ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผู้ป่วยมีจำนวนมาก สัดส่วนระหว่างผู้ให้บริการ (บุคลากรทางการแพทย์) และผู้รับบริการ (ผู้ป่วย) ไม่เพียงพอต่อกัน จึงเกิดความล่าช้า รอคิวนาน เกิดปัญหาในการส่งตัวต่อเพื่อการรักษา ปัญหาเหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้รับบริการ นำไปสู่ความขัดแย้งจนถึงขั้นฟ้องเป็นคดีความ ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบันทำงานด้วยความยากลำบากเกิดภาวะเครียด นอกจากนี้ยังเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคม (กลุ่มคนยากจน, กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล, กลุ่มแรงงานที่มีรายได้ไม่มั่นคง) ที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก

ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั้งหมดนี้เกิดจากปัจจัยหลายๆ ด้านที่มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งปัจจัยส่วนบุคคล เช่นสถานภาพและทุนทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน ไปจนถึงปัจจัยเชิงระบบ เช่น ความซ้ำซ้อนของระบบประกันสุขภาพ เป็นต้น

OVERPOPULATION
ปัญหาจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น

ในแต่ละวันจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อโลกไม่ว่าจะในทางบวกหรือลบ ซึ่งผลจากการศึกษาเรื่องนี้องค์การสหประชาชาติระบุว่าในปี พ.ศ. 2550 ประชากรโลกจำนวนครึ่งหนึ่งจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และในปี พ.ศ. 2560 ประเทศที่ยากจนที่สุดจำนวนประชากรที่อยู่ในเมืองและชนบทจะมีสัดส่วนเท่ากัน ซึ่งหมายความว่าวิถีความเป็นเมืองจะเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก

จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจากการย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงานและการใช้ชีวิตในเมือง ทำให้เขตเมืองมีลักษณะความหนาแน่นแบบกระจุกตัว (Concentrate of Population) และทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ มลพิษด้านต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลทางสังคมและเศรษกิจในภาพรวม เช่น พื้นที่อยู่อาศัยในเขตเมืองจะมีราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชากรในเขตเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เริ่มสร้างครอบครัวใหม่จึงต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปแถบชานเมืองมากขึ้น

สถานการณ์นี้เรียกว่า การขยายตัวของเมืองแบบกระจัดกระจาย (Urban Sprawl) คือ กระบวนการที่เมืองขยายตัวออกไปสู่บริเวณโดยรอบอันเป็นผลมาจากการที่ประชากรโยกย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นน้อย การขยายตัวดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไม่มีระบบ ขาดการวางแผนและควบคุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวไปตามชานเมืองและถูกรายรอบด้วยพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้เกิดพื้นที่เมืองที่ไม่ต่อเนื่องกัน และขาดสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะที่จัดทำเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในสิ่งอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต

INEQUALITY
ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ (Inequality) มักหมายถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่มีโอกาสกับผู้ที่ขาดโอกาส ซึ่งโอกาสในที่นี้ คือโอกาสในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรต่างๆ ในสังคม ถึงแม้ว่าภาพรวมของประเทศในช่วงที่ผ่านมา จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้บ้าง ประชาชนมีงานทํา มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และเข้าถึงบริการทางสังคมและสาธารณูปโภคได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่เท่าเทียมกันของประชาชนในกลุ่มและพื้นที่ต่างๆ เช่น คนเมืองกับชนบท ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิต่างๆของกลุ่มประชากรเฉพาะในสังคม เช่น ผู้พิการ, ผู้สูงอายุ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทย

สรุปรูปแบบของความเหลื่อมล้ำในภาพรวมได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

1. ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและรายได้ (Wealth & Income Inequality) ซึ่งเกิดจากการพัฒนาที่มีลักษณะไม่สมดุลหรือกระจุกตัวในบางพื้นที่หรือบางสาขาการผลิต ส่งผลให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนากระจายไปไม่ทั่วถึง ทั้งในเชิงพื้นที่และกลุ่มบุคคล

2. ความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายโอกาส (Opportunity Inequality) ของการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการสังคม การเข้าถึงปัจจัยการผลิต แหล่งทุน รวมถึงถึงสินเชื่อ หรือบริการทางการเงินต่างๆ

3. ความเหลื่อมล้ำด้านอํานาจ (Power Inequality) ทั้งด้านสิทธิทางการเมือง อํานาจต่อรองในการเข้าถึงทรัพยากรและการมีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนา ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมและอาจเกิดการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ต่อกลุ่มที่มีอํานาจน้อยในสังคม